มะลิลา (Malila:The Farewell Flower|2017|อนุชา บุญยวรรธนะ)

มะลิลา2

ฉากแรกของมะลิลาเป็นฉากที่พีชนอนเคียงข้างเชนในบ้านรกร้างอันร่มรื่น ภาพจับไปที่มือของพีชที่ชูกรวยของบายศีรขึ้น กรวยของบายศรีในมือของพีชนั้นงดงามยามต้องแสงที่ลอดผ่านลงมาจากหลังคา เชนบอกว่าสวยดีนะ แต่พีชแย้งว่ามันยังไม่ดีหรอก เขาให้เหตุผลว่าระหว่างกรวยมันมีช่องว่าง มันยังไม่แน่พอ ซึ่งจะทำให้ใบตองที่ใช้ทำเหี่ยวเร็ว…บายศรีที่ประกอบก็แห้งเหี่ยวเร็วนั้นเอง เขาอยากทำให้มันให้ดีกว่านี้…

มะลิลา
CR:https://konmongnangetc.com/2017/10/23/malila-kimjiseokawards/

เป็นฉากเปิดตัวของหนังที่เมื่อดูจนจบแล้ว พอนึกย้อนกลับมาที่ฉากแรกนี้ ความหม่นเศร้าจะถาโถม ทับถมเข้ามาทันที แม้ฉากสุดท้ายหนังจะพาเราไปสัมผัสสัจธรรมแห่งชีวิตและคลีคลายปมในใจของเชนได้ แต่ระหว่างทางที่ความรักและความคาดหวังมันดำเนินไปเพียงเพื่อรอวันเหี่ยวเฉาลงเหมือนบายศรีที่พีชอยากทำมันให้ดีขึ้นนั้น ช่างดูเจ็บปวดเหลือเกิน

ในอนธการ (the blue hour) ตั้มกับภูมิเป็นเสมือนมนุษย์ที่ถูกกระทำจากสังคมที่เคร่งครัดเรื่องเพศสภาพว่ามีแค่ชายกับหญิงเท่านั้น การกลายเป็นลูกชายที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ ความเศร้ารันทดที่ผลักดันให้กระทำอาชญากรรมโต้กลับสังคมที่รังเกียจพวกขเา และการเปลือยเปล่าลงสู่แม่น้ำ (ในตอนท้าย รวมถึงสระว่ายน้ำร้างที่เป็นดั่งโลกเร้นลับของตั้มกับภูมิ) เพื่อลบลืมหลีกหนีความจริงอันร้าวราน ในขณะที มะลิล่า ก็มีแม่น้ำเป็นสถานทีปล่อยทิ้งบายศรีเหี่ยวเฉาซึ่งผ่านการประกอบพิธีมาแล้วให้ไหลล่องไปตามกระแสน้ำ จะเห็นได้ว่าทั้งสองเรื่องมีแม่น้ำ (หรือในความหมายของการจมลงหรือล่องลอย) เป็นนัยยะคลีคลายของเรื่องเช่นกัน หากแม่น้ำในอนธการคือหลีกเร้น ไม่รับรู้ แต่ในมะลิล่าแม่น้ำคือการปล่อยวาง

-สปอยล์-
ดังน้้นแม่น้ำที่ปรากฎอยู่ในทั้งครึ่งแรกและครึ่งหลังของมะลิล่าจึงสื่อถึงการเวียนว่ายตายเกิด ที่เชนและพีชต่างยอมรับมันแต่โดยดี เชนและพีชจึงกลายเป็นมนุษย์/คู่รัก ที่ไม่ได้ถูกกระทำโดยตรงจากสังคมที่เคร่งครังเรื่องเพศสภาพ (หนังไม่กล่าวอ้างถึงเรื่องพวกนี้) แต่ด้วยสภาพสังคมในชนบทที่ทั้งคู่อาศัยอยุ่ซึ่งยังคงศรัทธาต่อศาสนาและเชื่อเรื่องผีสาง (แม่ของพีช ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบถูกจับเข้าพีธีขับไล่ผีและสุดท้ายก็ตายลง ) จึงอดคิดไม่ได้ว่าเชนกับพีชคงถูกค่านิยมหรือประเพณีของสังคมควบคุมไว้อยู่แล้วโดยที่เจ้าตัวไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงอะไร ดั่งเช่นที่พีชซมซานกลับมารักษาตัวจากโรคมะเร็งด้วยยาสมุนไพรที่บ้านเกิดและมีการทำบายศรีเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเยี่ยวยาจิตใจ (พีชเคยบอกเชนว่า พอได้ทำบายศรีแล้ว เขารู้สึกดีขึ้น) ในขณะที่เชนสูญเสียเมียและลูกสาวในเวลาไล่เลี่ยกัน ราวชีวิตนั้นสิ้นไร้ความหวัง เขาเมามาย จมลงอยู่ในความโศกเศร้า จนกระทั่งพีชกลับมา เชนจึงหันไปพึ่งพิงศาสนา เขาหวังว่าแรงศรัทธาต่อศาสนานั้นจะช่วยปัดเปาเรื่องร้ายออกไปจากพีชได้บ้าง

ในฉากที่เชนและพีชนั่งคุยกันริมแม่น้ำที่มีชิ้นส่วนของบายศรีลอยไปตามกระแสน้ำไหลเอี่อย จากบทสนทนาในตอนแรก เรารับรู้ได้ว่าพวกเขาเพิ่งได้พบกันอีกครั้ง ทั้งคู่ต่างไถ่ถามสารสุขดิบกันและกันอย่างคนร้างไกลกันมาเนินนาน การบอกเล่าพูดคุยนั้นราวเป็นการเติมเตฺ็ม ฟื้นคืนช่วงเวลาทีพลัดพรากจากกัน แม้ใบหน้าและแววตาของทั้สองยังคงฉายแววโศกเศร้าหมอง ราวตระหนักได้ถึงความจริงที่ไม่อาจหลีกหนี พวกเขาจึงทำได้เพียงน้อมรับช่วงเวลาอันสั้นกระจิดริดของการได้กลับมาอยู่เคียงข้างกัน รักกัน ดูแลกัน หลอมรวมความเจ็บปวดและความสุขสมทั้งมวลเข้าไว้ด้วยกัน อยู่กับความรักครั้งสุดท้ายและ…

สิ่งที่ยึดโยงพวกเขาไว้
พีชตั้งใจทำบายศรีเพื่อเรียกขวัญที่กระเจอะกระเจิงของเชนให้กลับคืนมา เชนจึงตั้งใจบวช เพื่อให้พีชหายจากโรคร้าย หรืออย่างน้อยหากพีชตายไปวิญญารของพีชจะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี แต่พีชจากไปก่อนที่บายศีรจะเสร็จสมบูรณ์ ส่วนเชนบวชแล้วออกธุดงค์ ฉากที่เชนฝึกอสุภกรรมฐาน ภาพหลอกหลอนของศพที่ลุกขึ้นยืนแล้วกลายเป็นพีช พีชเดินเข้ามาสวมกอด ราวเป็นการร้ำลากันครั้งสุดท้าย เชนได้แต่พร่ำบอกกับพีชว่า ขอโทษ แล้วก็หมดสติล้มลงอยู่ข้างๆศพนั้น ซึ่งเป็นฉากที่ทรงพลังและงดงามมากๆ (แต่อดคิดไม่ได้ว่าหากเชนกับพีชเป็นคู่รักชายหญิง (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เชนกับพีช จะเป็นเพศใดก็ได้ เพราะเราเชื่ออย่างหมดใจว่า ภาพที่เห็นในหนัง คือมนุษย์คู่หนึ่งที่กำลังรักกันและพยายามจะอยู่ด้วยกัน) กองเซนเซอร์จะปล่อยฉากการสวมกอดที่ว่านี้ให้ผ่านหรือเปล่า แต่เท่านี้ก็รู้สึกดีมากๆที่กองเซนเซอร์เข้าใจบริบทของหนังและไม่คิดตัดสินแทนคนดู)

คำขอโทษของพระเชน จึงเหมือนการปลดปล่อยและยอมรับต่อความตาย/ความพลัดพรากที่ประดังเข้ามาในชีวิต ฉากสุดท้ายของหนัง เราจึงเห็นภาพมุมกว้างของลำธาร ซึ่งพระเชนได้ปลงจีวรเปลือยกายลงชาระล้างตัวอยู่ในนั้น เมื่อย้อนนึกถึงฉากที่พีชกับเชนปล่อยบายศรีลงแม่น้ำ พระเชนที่ไร้อาภรณ์ในฉากนี้ก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ได้ปล่อยวางและน้อมรับความไม่จีรังของชีวิต การทอดกายเปลื่อยเปล่าลงแม่น้ำ ก็เหมือนกับการยอมรับตั้งแต่แรกแล้วว่าความสวยงามของบายศรีนั้นอายุสั้น เราจึงไม่สามารถเหนี่ยวรั้งหรือกักเก็บความสวยงามเหล่านี้ไว้กับตัวได้ตลอดไป

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชอบหนังของหนังอนุชามากๆคือความหม่นเทาของหนัง บรรยากาศอึมครึมทึบทึม สุ้มเสียงของสรรพสิ่งรายล้อมตัวที่ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นเสียงเฉพาะของเหตุการณ์ ก่อให้เกิดความคลุมเครือ ไม่ชอบมาพากล อย่างเสียงแมลงวันในมะนิลา ทำให้รู้สึกถึงความเสื่อมสลาย ความตาย การพลัดพราก แต่ถึงกระนั้นมะลิลา (รวมถึงอนธกาลด้วย) ก็ไม่ใช่หนังหม่นเทาเสียทีเดียว ทว่าเป็นหนังที่มีแสงเรื่อเรือง สลัวลางเฉพาะตัวที่ให้ความคลี่คลาย โดยไม่ชี้นำว่าสิ่งใดถูกหรือผิด หรือชีวิตมันจะดีชึ้นหรือเลวลง แสงที่ว่านี้จึงไม่เฉียดเข้าใกล้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะความหม่นหมองในมะนิลามันเป็นหนทางที่ตัวละครเลือกที่จะอยู่กับมันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว (เชนเลือกที่จะรักพีชจวบจนวาระสุดท้าย เลือกที่จะบวชและออกธุดงค์) พวกเขาจึงไม่ได้ถูกโชคชะตาเล่นตลก แต่พวกเขาเลือกที่จะเล่นตลกกับโชคชะตาต่างหาก พอท้ายสุดการคลี่คลายของเชน (หรือ ตั้มกับภูมิ) มันจึงเป็นเพียงการเลือกที่จะอยู่กับทุกขณะของผลที่เกิดจากกระทำของตัวเอง

เขียนใน films

ใส่ความเห็น