die tomorrow (2017|นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์)

DieTomorrow5

ในหนังสารคดี we are X ตอนที่โยชิกิ เผยถึงความรู้สึกและผลกระทบจากการฆ่าตัวตายของพ่อ-ของเขาว่าส่งผลอะไรถึงเขาบ้าง ช่วงที่ปัญหาทั้งจากของตัวเอง วงดนตรี และเพื่อนสนิทรุมเร้าโยชิกิเคยคิดจะฆ่าตัวตาย แต่พอเขาตระหนักได้ถึงช่วงเวลาที่เขาสูญเสียพ่อไป ถ้าเขาทำเหมือนพ่อ คนที่อยู่ข้างหลังอย่างแม่ของเขาก็คงทุกข์ทรมานเช่นเดียวกัน (ป๋าโยของเราจึงยังคงอยู่ ชุบชีวิต X Japan กลับมาและยังไม่ออกอัลบั้มใหม่เสียที) die tomorrow เองก็พูดเรื่องในบริบทคล้ายกับที่โยชิกิตระหนักได้ถึงผลกระทบจากความตายของพ่อของเขา นี่คือสารที่หนังเรื่องนี้อยากสื่ออกมา เพียงแต่การบอกเล่าถึงความตายของเต๋อ มันคือ 24 ชม ก่อนที่คนคนหนึ่งจะหายไปทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ มันคือช่วงเวลาที่เรายังไม่ทันได้ตระะหนักรู้ถึงผลกระทบของความตาย หนังจึงเล่าด้วยท่าทีที่เรียบง่าย เฉยเมย สงบนิ่ง ทุกสิ่งคือปัจจุบันที่ตั้งอยู่บทความไม่แน่นอน (อนินจัง)

คงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่เต๋อ นวพล จะทำหนังที่พูดถึงเรื่องสัจธรรมอย่างความตาย เพราะเต๋อได้พิสูจน์ตัวเองต่อแฟนๆ (และนายทุน) แล้วว่า เขาทำหนังอินดี้ให้อยู่ในกระแสได้ดีขนาดนั้น และนี้คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ die tomorrow คือหนังที่เต๋อทำตามใจตัวเองมากที่สุด ทั้งสีของหนัง สถานที ดนตรีประกอบอันน้อยชิ้น การแช่ภาพไว้นิ่งๆ หรือการเล่าเรื่องแบบหนังสารคดี สอดแทรกกับภาพถ่ายของเหตุการณ์ต่างๆที่สื่อถึงช่วงเวลาก่อนจะมีใครสักคนหายไป

ซึ่งถ้าใครตามเพจของเต๋อ จะสังเกตได้ว่าเต๋อเคยโพสต์ถึง งานของบรรดาผู้กำกับอย่าง ชุนจิ อิวาวิ โคโรอิดะ (งานยุคแรกๆ) หรือ รอย แอนเเดอร์สัน (แต่ผมนึกถึงอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่สิ ต้องหมายถึงหนังเรื่องหนึ่งมากกว่า นั้นคือ Nymphomaniac (2013) ของ ลาร์ส ฟอน เทียร์ ) เราจะได้เห็นอิทธิพลของงานของ ผกก เหล่านี้ใน die tomorrow ซึ่งเต๋อก็ทำได้ดีมากเลยนะ ทุกฉากมันถูกบอกเล่าผ่านตัวนักแสดง ห้องนอน ห้องในโรงแรม ดาดฟ้า ระเบียงตึก ชานหน้าบ้าน ดนตรีประกอบ ได้อย่างลงตัว สมจริง งดงาม เฉยเมย และสงบนิ่ง ทั้งๆที่ความรู้สึกของผมตอนนั้นมันค่อนข้างหม่นหมองลงไปบ้างแล้วก็ตาม (อาจด้วยผมเองก็เคยนึกถึงความตาย ด้วยความรู้สึกทีเล่นทีจริงว่า ถ้าคนเราพอตายแล้วร่างกายจะระเหิดหายไปเลยก็คงดี จะได้ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องงานศพ และควรจะลบเรื่องราวของเราออกไปจากความรู้สึก/ความทรงจำคนที่ยังอยู่ด้วย)

-สปอยล์ : เชียนถึงฉากจบของหนัง-
สุดท้าย die tomorrow สำหรับผมไม่ได้ทำให้รู้สึกชอบมากหรือมากไปกว่าหนังเรื่องก่อนหน้านั้นของเต๋อ อาจเพราะผมเองคงชินกับหนังที่พูดถึงความตายแล้วกระมั้ง และอาจด้วยตัวหนังไม่ได้เน้นขยายความหรือย้ำประเด็นในเรื่องผลกระทบหลังความตายอย่างชี้ชัด มันจึงเป็นเพียงการบันทึกประจำวันถึงใครคนหนึ่งก่อนเขาจะตายจากไป ดังนั้นฉากสุดท้ายของหนังซึ่งเป็นฉากในห้องนอนของพลอยซึ่งเธอถอนเครืองช่วยหายใจออกไปแล้ว กำลังเปลียนอริยาบทจากการนอนอ่านหนังสือบนเตียงไปนั่งบนเก้าอี้ที่ตั้งอยู่ปลายเตียงซึ่งเคยเป็นที่ของซันนี่ และเขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น…จึงน่าจะเป็นฉากชีวิตธรรมดาสามัญที่สรุปถึงความตายอันเป็นอนินจังได้เรียบง่ายที่สุด ความรู้สึกของผมหลังดูหนังจึงไม่ได้ท่วมท้นหรือตระหนักรู้ถึงความตายมากขึ้นไปกว่าการชื่นชมงานกำกับและอาร์ทไดเรกชั่นของหนังเรื่องนี้ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า die tomorrow เป็นเพียงหนังที่เอาความตายมาพูดโดยไม่แฝงหลักการใดๆ ไว้เลย การที่หนังเน้นย้ำว่า ความตายเกิดได้ทุกขณะ หรือการยอมรับในความตายผ่านตัวละครอย่างพลอย หรือน้องมรรค หรือคุณตาอายุ 104 ปี ก็ดี ราวเป็นการสนทนาธรรมว่าด้วยเรื่องอาทิเช่น อนันตา / มรณสติ คลอไปกับเสียงเพลงจาก ost : die tomorrow * อันบางเบาซึ่งเปิดเป็นฉากหลังเพื่อเพิ่มความผ่อนคลายให้กับการสนทนาครั้งนี้

* ผมซื้อ ost มาฟังก่อนไปดูหนัง แล้วรู้สึกว่าเพลงมันค่อนข้างสดใส ราวการคลี่คลาย เปลี่ยบเปล่าบางสิ่งบางอย่าง

ปล 1.OST die tomorrow โดย ต้องตาและปกป้อง จิตดี (plastic plastic)
2.ส่วนตัวชอบพาร์ทของเต้ย ลองเทคการนั่งกินกูลิโก๊ะของเต้ยโดยไม่ได้มีบทสนทนาอะไรเป็นสาระสำคัญ แต่มันกลับพูดแทนความรู้สึกในใจของเต้ยต่อการตายของเพื่อนนางแบบคนหนึ่งได้มากมายเหลือเกิน / และพาร์ทของวีกับพายและเติ้ง ผมว่ามันหม่นหมอง สุดแสนเฉยเมยและน่าเห็นใจมากที่สุดแล้ว

เขียนใน films

ใส่ความเห็น